สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา เดินหน้าผลักดัน “การทูตเพื่อการพัฒนา” ผ่านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่บุคลการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสาธารณรัฐคีร์กีซและทาจิกิสถาน
ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2568 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ได้เดินหน้าผลักดันบทบาทของไทยในด้าน “การทูตเพื่อการพัฒนา” (Development Diplomacy) ผ่านโครงการส่งเสริมการทูตเพื่อการพัฒนาของไทยผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสาธารณรัฐคีร์กีซและสาธารณรัฐทาจิกิสถาน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ นางปิยะพิณ นิยมฤกษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ได้ มอบหมายให้ ดร. อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตฯ นำอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก International Higher School of Medicine แห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ และ Avicenna Tajik State Medical University แห่งทาจิกิสถาน จำนวน 8 ท่าน เดินทางเยือนไทยเพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับหน่วยงานชั้นนำของไทย
กรุงเทพฯ: ศึกษาดูงานและต่อยอดความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำของไทย
การเยือนเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ คณะฯ ได้รับการต้อนรับจากนาวาอากาศตรีหญิง แพทย์หญิงสุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ในการเยี่ยมชมโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเด็กเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
จากนั้น คณะฯ ได้เยี่ยมชมโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ โดยมี นายแพทย์ศรัณย์ อินทกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของโรงพยาบาล ก่อนเดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาล BNH ซึ่งคณะฯ ได้รับทราบเรื่องความโดดเด่นด้านศัลยกรรมกระดูกและบริการพรีเมียม
คณะฯ ยังได้เข้าพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และ ดร. ฐากูร พานิช รักษาการรองเลขาธิการจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันและแนวทางการต่อยอดความร่วมมือ โดยในโอกาสดังกล่าว คณะฯ ได้รับฟังการบรรยายจากทีมแพทย์ของวิทยาลัยฯ เรื่อง ชการบรรยายเรื่องการจัดการวิกฤตโรคติดเชื้อและการตอบสนองต่อภัยพิบัติฉุกเฉิน พร้อมเยี่ยมชมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้พบหารือกับคณะผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งให้ข้อมูลด้านการศึกษาวิชาชีพแพทย์ การวิจัย และบทบาทต่อสังคมของสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ รวมถึงการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่มีศักยภาพในอนาคตระหว่างกัน
ขอนแก่น: แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านโรคเขตร้อนและการแพทย์ชุมชน
จากนั้น คณะฯ ได้เดินทางสู่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อนและการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและการหารือแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกันในด้านการศึกษา การท่องเที่ยว การแพทย์ และด้านอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค จากนั้น คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฯ ตลอดจนเยี่ยมชม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี รวมถึง ACRO ซึ่งเป็นศูนย์บริหารจัดการวิจัยคลินิก ที่สำคัญ คณะฯ ได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสำราญ และ หน่วยบริการปฐมภูมิสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ด้านการส่งเสริมสุขภาพสำหรับคนไทยในระดับชุมชม โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก
พัทยา: ผสานสุขภาพกับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
ในช่วงสุดท้ายของโครงการฯ คณะฯ เดินทางไปยังเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี หนึ่งในเมืองนำร่องด้าน Medical Tourism ของไทย โดยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาลเอกชนในพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา และโรงพยาบาลพัทยาเมโมเรียล โดยได้ศึกษารูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ที่ผสานเข้ากับการพักผ่อนอย่างครบวงจร นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เยี่ยมชมชายหาดและสถานที่ท่องเที่ยวในเขตเมืองพัทยา เพื่อเข้าใจความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชียกลางที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล และเล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับภูมิภาค
จากความรู้สู่ความร่วมมือ จากความร่วมมือสู่มิตรภาพ เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ
โครงการส่งเสริมการทูตเพื่อการพัฒนาของไทย ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสาธารณรัฐคีร์กีซและสาธารณรัฐทาจิกิสถาน เป็นข้อริเริ่มของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมทั้งสองประเทศ โดยยึดหลักว่า ประเทศไทยในฐานะที่มีระบบสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สามารถแบ่งปันองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่ประเทศมิตรในภูมิภาคเอเชียกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการเยือนไทยภายใต้โครงการดังกล่าว คณะอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาธารณรัฐคีร์กีซและทาจิกิสถาน ทั้ง 8 ท่าน ต่างประทับใจในมิตรไมตรีอันอบอุ่นและซาบซึ้งต่อการแบ่งปันองค์ความรู้ทางการแพทย์อย่างเปิดกว้างและจริงใจของฝ่ายไทย
โครงการนี้จึงสะท้อนบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้าน การทูตเพื่อการพัฒนา (Development Diplomacy) และศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านสุขภาพ การแพทย์ และการพัฒนา มาผนวกรวมเข้ากับความร่วมมือทางการทูต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาคมโลกอย่างยั่งยืน